รู้ทันโรคอ้วน ภัยเงียบคุกคามสุขภาพ มาเปลี่ยนพฤติกรรมให้ห่างไกลโรค

รู้ทันโรคอ้วน ภัยเงียบคุกคามสุขภาพ มาเปลี่ยนพฤติกรรมง่ายๆ ห่างไกลโรค

โรคอ้วนถือเป็นหนึ่งในปัญหาสุขภาพที่สำคัญและกำลังเป็นที่น่ากังวลในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย โรคนี้นอกจากจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพระดับบุคคล ก่อให้เกิดโรคหัวใจ ความดัน หรืออื่น ๆ ตามมามากมายแล้ว ยังมีผลต่อเศรษฐกิจและสังคมอย่างกว้างขวาง แต่ประชากรที่มีความรู้และความเข้าใจผลกระทบของโรคนี้ ยังถือว่ามีความสับสนระหว่างโรคอ้วนกับการมีน้ำหนักเกินไม่ใช่น้อย ดังนั้นในบทความนี้ จะมาชี้แจงรายละเอียดให้คุณ รู้ทันโรคอ้วน พร้อมแนะนำการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมง่ายๆ ที่สามารถทำได้เพื่อช่วยให้ห่างไกลจากโรคนี้ และวิธีการต่าง ๆ รวมถึงวิธีการใช้ อาหารเสริมลดน้ำหนัก ว่าจะได้ผลอย่างไรบ้าง


รู้ทันโรคอ้วน เฝ้าระวังอาการและสัญญาณ

รู้ทันโรคอ้วน เฝ้าระวังอาการและสัญญาณ

โรคอ้วนไม่เพียงแต่เป็นสภาวะที่เกี่ยวข้องกับน้ำหนักตัวเท่านั้น แต่ยังรวมถึงผลกระทบต่อสุขภาพที่หลากหลายซึ่งสามารถส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันและคุณภาพชีวิตโดยรวมได้ ด้านล่างนี้คือรายการอาการและสัญญาณที่พบบ่อยในผู้ใหญ่และเด็กที่เป็นโรค

แยกแยะระหว่าง การเป็นโรคอ้วนกับมีน้ำหนักเกิน

การแยกแยะระหว่างสองอย่างนี้สำคัญเป็นอย่างมาก หลายคนอาจเข้าใจผิดได้ง่าย เพราะทั้งสองสภาวะนี้มีความแตกต่างกันที่สำคัญ น้ำหนักเกินหมายถึงสภาวะที่น้ำหนักตัวมากกว่ามาตรฐานที่แนะนำสำหรับส่วนสูงหนึ่งๆ แต่ยังไม่ถึงระดับที่เรียกว่าโรคอ้วน ส่วนโรคอ้วนหมายถึงสภาวะที่มีดัชนีมวลกาย (BMI) 30 หรือมากกว่า การ รู้ทันโรคอ้วน ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ว่ามีไขมันสะสมในร่างกายมากเกินขีดความสามารถของร่างกายที่จะจัดการได้ การรู้ความแตกต่างเหล่านี้จะช่วยให้การวินิจฉัยและการรักษาสามารถทำได้อย่างเหมาะสม

เด็ก

  • ไขมันส่วนเกินบริเวณหน้าอกและสะโพก : ไขมันที่สะสมเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าเด็กมีน้ำหนักตัวมากกว่าปกติ ซึ่งอาจส่งผลต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการทางกายภาพ ในบางกรณี เด็กอาจประสบปัญหาเกี่ยวกับความมั่นใจในตนเอง และการเข้าสังคมเนื่องจากสภาพร่างกายที่ใหญ่โต
  • ปัญหาการหายใจขณะทำกิจกรรม : การหายใจที่ลำบากขณะวิ่งเล่น หรือทำกิจกรรมร่างกายอื่นๆ ตัวแปรนี้สามารถเป็นสัญญาณของโรคอ้วนและปัญหาสุขภาพร่วมอื่น ๆ การขาดความสามารถในการทำกิจกรรมต่างๆ อาจส่งผลต่อการพัฒนาทักษะทางกายภาพและสังคมในเด็ก
  • ปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับน้ำหนัก : เช่น GERD และภาวะข้อเท้าแบน โรคอ้วนในวัยเด็กนำไปสู่ภาวะการย่อยอาหารที่ผิดปกติ และปัญหาทางกระดูกและข้อต่อที่อาจส่งผลระยะยาว ภาวะเหล่านี้ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสุขภาพจิตและการพัฒนาทางสังคมของเด็กด้วย

ผู้ใหญ่

  • ไขมันส่วนเกินรอบเอว : นอกจากจะส่งผลต่อรูปลักษณ์ภายนอก ส่วนเกินนี้ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวานชนิดที่ 2 และโรคหัวใจ โดยขนาดเมื่อวัดรอบเอวในผู้หญิง ที่เกิน 35 นิ้ว และในผู้ชายเกิน 40 นิ้ว ถือเป็นสัญญาณเตือนที่ชัดเจนของภาวะไขมันส่วนเกินในช่องท้อง ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ความเสี่ยงสูงของโรค
  • หายใจลำบากหรือหอบเหนื่อยง่าย : น้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น ทำให้ระบบการหายใจทำงานหนักขึ้น และหายใจลำบาก คุณสามารถสังเกตเห็นได้ในระหว่างทำกิจกรรม หรือแม้กระทั่งเมื่อพักผ่อน น้ำหนักที่เพิ่มขึ้นยังเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหยุดหายใจขณะหลับ (sleep apnea) ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพการนอนหลับโดยรวม
  • มีปัญหาผิวบริเวณในรอยพับ : ผิวหนังที่ข้อพับ เก็บสามารถสะสมความชื้นและทำให้เกิดการระคายเคืองหรือการติดเชื้อ เช่น การเกิดราในรอยพับของผิวหนัง ซึ่งไม่เพียงแต่ทำให้รู้สึกไม่สบายเท่านั้น แต่ยังอาจนำไปสู่ปัญหาผิวหนังเรื้อรังหากไม่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม
  • ปวดเมื่อยตามข้อและหลัง : น้ำหนักตัวที่มากเกินไป ส่งผลให้เกิดความเครียดและการสึกหรอที่ข้อต่อและกระดูกสันหลัง ซึ่งอาจนำไปสู่อาการปวดเรื้อรัง การศึกษาพบว่าโรคอ้วนเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคข้อเสื่อมและอาการปวดหลัง
  • อาการทางจิต : เช่น ความรู้สึกสูญเสียความเป็นตัวเอง และภาวะซึมเศร้า โรคอ้วนสามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิต นำไปสู่ปัญหาด้านอารมณ์และความเชื่อมั่นในตนเองที่ลดลง ความรู้สึกเหล่านี้อาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าและแม้กระทั่งการแยกตัวเองจากสังคม

สาเหตุโรคอ้วน

สาเหตุโรคอ้วน

โรคอ้วนเป็นปัญหาสุขภาพที่มีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย ทั้งทางพันธุกรรม, วิถีชีวิต, และสภาพแวดล้อมทางสังคมและเศรษฐกิจ ซึ่งแต่ละปัจจัยเหล่านี้มีบทบาทในการเพิ่มความเสี่ยงและความรุนแรงของโรค

ปัจจัยทางพันธุกรรม

หนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้บุคคลมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรค นั่นก็คือการถ่ายทอดทางพันธุกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของโรคที่มีความผิดปกติทางพันธุกรรม เช่น

  • POMC deficiency obesity ทำให้เกิดความหิวอย่างรุนแรงตั้งแต่วัยเด็ก เนื่องจากการขาดการผลิตฮอร์โมนที่ช่วยควบคุมความอยากอาหาร
  • LEPR deficiency obesity ส่งผลให้มีการกินมากเกินไปและน้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่อายุยังน้อย เนื่องจากความผิดปกติในระบบรับสัญญาณฮอร์โมน leptin ที่รับผิดชอบในการควบคุมความอิ่ม
  • Prader-Willi syndrome (PWS) ภาวะนี้เกิดจากข้อผิดพลาดในการทำงานของยีนบางตัวบนโครโมโซมหมายเลข 15 ผู้ที่มี PWS มักมีความอยากอาหารอย่างมาก (hyperphagia) และมักมีปัญหาเกี่ยวกับน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและมีความผิดปกติทางพฤติกรรม
  • Cohen syndrome – เป็นอีกหนึ่งโรคทางพันธุกรรมที่อาจนำไปสู่การเพิ่มน้ำหนักตัวและโรคอ้วน เด็กที่มี Cohen syndrome มักมีลักษณะเฉพาะทางกายภาพ เช่น มีขนตาหนาและมีมือเท้าเล็ก

การดำเนินชีวิตประจำวัน

วิถีชีวิต มีผลต่อการเกิดโรคอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขาดการออกกำลังกาย และการรับประทานอาหารที่ไม่ถูกหลัก

  • ไม่ออกกำลังกาย : ส่งผลให้เกิดการสะสมของพลังงานในรูปของไขมัน เนื่องจากพลังงานที่ได้รับจากอาหารไม่ถูกใช้ไปในกิจกรรมที่ต้องการการเผาผลาญสูง
  • รับประทานอาหาร : การกินอาหารที่มีไขมันสูงและแคลอรีสูง แต่ขาดผักและผลไม้ที่มีคุณค่าทางโภชนาการ ยังช่วยเพิ่มความเสี่ยง หากคุณต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติม สามารถอ่านได้จากบทความนี้ อาหารสำหรับเบาหวาน
  • นอนไม่เพียงพอ: การนอนหลับที่ไม่เพียงพอหรือคุณภาพการนอนที่ต่ำสามารถส่งผลให้เกิดการเพิ่มน้ำหนักและโรคอ้วน การนอนไม่เพียงพอสามารถรบกวนฮอร์โมนที่ควบคุมความอยากอาหาร เช่น เพิ่มระดับฮอร์โมนกรีลิน (ที่กระตุ้นความอยากอาหาร) และลดระดับฮอร์โมนเลปติน (ที่ช่วยให้รู้สึกอิ่ม)
  • ดื่มแอลกอฮอล์: การดื่มเป็นประจำสามารถนำไปสู่การเพิ่มน้ำหนัก เนื่องจากเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์มีแคลอรีสูง แต่ไม่มีคุณค่าทางโภชนาการใดใด
  • ความเครียด: ความเครียดเรื้อรัง นำไปสู่การกินเพื่อบรรเทาความเครียด (stress eating) ซึ่งบ่อยครั้งที่เลือกอาหารที่มีไขมันและน้ำตาลสูง นอกจากนี้ ความเครียดยังกระตุ้นระดับคอร์ติซอล ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่สามารถทำให้เกิดการเพิ่มน้ำหนัก
  • ดูโทรทัศน์หรือนั่งทำงานเป็นเวลานาน: การใช้เวลานานกับการดูทีวี หรือการใช้นั่งทำงานนิ่งๆ ไม่ขยับตัว เชื่อมโยงกับการเพิ่มน้ำหนักอย่าชัดเจน เนื่องจากการขาดกิจกรรมทางกายภาพและการรับประทานขนมหรืออาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพในขณะทำกิจกรรมนั้น ๆ

สภาวะทางสังคมและเศรษฐกิจ

  • ความยากจนและการเข้าถึงทรัพยากร: ในพื้นที่ที่มีรายได้น้อย อาหารที่มีราคาถูกและมีคุณค่าทางโภชนาการต่ำมักเป็นทางเลือกที่เดียวที่เข้าถึงได้ง่าย
  • การศึกษาและการรับรู้: ระดับการศึกษาที่ไม่เข้าถึง ส่งผลให้มีความรู้เกี่ยวกับโภชนาการน้อย ซึ่งอาจนำไปสู่การตัดสินใจทางอาหารที่ไม่เหมาะสม
  • ระบบการผลิตและการกระจายอาหาร: การเข้าถึงอาหารที่ไม่มีคุณค่าโภชนาการแต่มีแคลอรีสูง (เช่น อาหารจานด่วนและอาหารแปรรูป) ง่ายกว่าอาหารที่มีประโยชน์ เช่น ผักและผลไม้สด โดยเฉพาะในพื้นที่เมืองหลวงและพื้นที่ที่มีรายได้น้อย
  • แรงกดดันทางสังคมและวัฒนธรรม: ความคาดหวังทางสังคมและมาตรฐานวัฒนธรรมสามารถส่งผลต่อพฤติกรรมการกินและกิจกรรมทางกาย เช่น ในบางวัฒนธรรม มักมีการเลี้ยงฉลองและกินอาหารปริมาณมาก หรือ การส่งเสริมให้มีรูปร่างใหญ่เพื่อแสดงถึงสถานะแห่งความมั่งคั่ง
  • โครงสร้างพื้นที่และการเข้าถึงพื้นที่สำหรับกิจกรรมทางกาย: การขาดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อกิจกรรมทางกาย อาทิเช่น สวนสาธารณะ ทางเดิน หรือศูนย์กีฬา อาจจำกัดโอกาสในการออกกำลังกาย

แนวทางการรักษาและการจัดการ

แนวทางการรักษาและการจัดการ

การจัดการกับโรคอ้วนไม่ใช่เพียงแค่การลดน้ำหนัก แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตในระยะยาว ที่จำเป็นทำอย่างต่อเนื่องและมีความมุ่งมั่นอย่างสูง โดยการออกกำลังกายและการควบคุมอาหาร เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยในการควบคุมน้ำหนัก

  • การออกกำลังกาย: การฝึกฝนร่างกายเป็นประจำ สามารถช่วยเพิ่มการเผาผลาญพลังงานและปรับปรุงสุขภาพโดยรวมได้ คำแนะนำทั่วไป คือฝึกฝนแบบเข้มข้นปานกลางอย่างน้อย 150-300 นาทีต่อสัปดาห์ หรือ ฝึกฝนแบบเข้มข้น 75-150 นาทีต่อสัปดาห์
  • ควบคุมอาหาร: การรับประทานอาหารที่สมดุลและมีสุขภาพดีมีความสำคัญอย่างยิ่ง ควรเน้นอาหารที่มีไฟเบอร์สูง เช่น ผักและผลไม้ รวมทั้งโปรตีนที่มีไขมันต่ำ และหลีกเลี่ยงอาหารที่มีน้ำตาลและไขมันสูง
  • รับการปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ: การปรึกษากับนักโภชนาการและนักจิตวิทยาสามารถช่วยให้เข้าใจถึงพฤติกรรมการกินและจัดการกับปัญหาทางอารมณ์ที่อาจเกี่ยวข้องกับการกินอาหารได้

การรักษาด้วยวิธีการแพทย์

การรักษาด้วยวิธีการแพทย์เป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงสูงหรือมีโรคร่วมที่ต้องการการดูแลรักษาอย่างจริงจัง โดยอาจรวมถึงการใช้ยาและการผ่าตัดลดน้ำหนัก

  • การใช้ยาลดน้ำหนัก: มีหลายชนิดของยาที่ใช้ในการช่วยเหลือการลดน้ำหนัก โดยแต่ละชนิดมีวิธีการทำงานที่แตกต่างกัน เช่น ลดความอยากอาหาร การเพิ่มการเผาผลาญพลังงาน หรือยาช่วยลดการดูดซึมไขมันในอาหาร ยาเหล่านี้มักจะใช้สำหรับผู้ที่มีดัชนีมวลกาย (BMI) มากกว่า 30 หรือผู้ที่มี BMI มากกว่า 27 หรือมีปัญหาสุขภาพร่วมอื่นๆ เช่น โรคเบาหวานชนิดที่ 2 หรือความดันโลหิตสูง ยาที่ได้รับการอนุมัติบางชนิดสามารถช่วยลดความอยากอาหารหรือเพิ่มความรู้สึกอิ่มได้
  • การผ่าตัด: สำหรับผู้ที่มี BMI มากกว่า 40 หรือผู้ที่มี BMI มากกว่า 35 พร้อมด้วยโรคร่วม การผ่าตัดลดน้ำหนักอาจเป็นทางเลือก การผ่าตัด Bariatric surgery หรือการลดขนาดกระเพาะอาหาร (sleeve gastrectomy) ตัวอย่างของการผ่าตัดที่ช่วยลดความสามารถในการดูดซึมและลดขนาดของกระเพาะอาหาร ซึ่งสามารถนำไปสู่การลดน้ำหนักอย่างมีนัยสำคัญ
  • ใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์: เช่น บาลลูนกระเพาะอาหาร ซึ่งเป็นการวางบอลลูนที่เติมลมหรือของเหลวในกระเพาะอาหารเพื่อทำให้รู้สึกอิ่มเร็วขึ้น ช่วยลดปริมาณอาหารที่รับประทานได้
  • รักษาโดยใช้ไฟฟ้ากระตุ้น: อุปกรณ์ที่ปล่อยสัญญาณไฟฟ้าไปยังเส้นประสาทที่ควบคุมความหิว เช่น ระบบกระตุ้นเส้นประสาทชนิด vagal nerve stimulation (VNS) ที่ช่วยลดความหิวและเพิ่มความรู้สึ

ผลกระทบต่อสุขภาพ

ผลกระทบต่อสุขภาพ

โรคที่แอบแฝงมากับความอ้วน เช่น

  • โรคหัวใจและหลอดเลือด: ผู้ที่มีโรคอ้วนมีความเสี่ยงสูงในการเกิดโรคหัวใจเพิ่มขึ้นถึง 28% เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่มีน้ำหนักปกติ น้ำหนักที่มากเกินไปทำให้หัวใจต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อสูบฉีดเลือดไปยังอวัยวะต่างๆ ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจขาดเลือดและหัวใจล้มเหลว
  • เบาหวานชนิดที่ 2: สภาวะน้ำหนักเกิน เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดเบาหวานชนิดที่ 2 อย่างมาก โดยผู้ที่มีโรคอ้วนมีความเสี่ยงสูงกว่าผู้ที่มีน้ำหนักปกติถึง 7 เท่า นอกจากนี้ เซลล์ไขมันยังสามารถทำให้ร่างกายต่อต้านอินซูลิน ซึ่งส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น
  • โรคกระดูกและข้อต่อ: น้ำหนักที่มากเกินไปจะเพิ่มแรงกดดันต่อกระดูกและข้อต่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ข้อเข่าและสะโพก การศึกษาพบว่าผู้ที่มีโรคอ้วนมีความเสี่ยงสูงถึง 4 เท่าในการเป็นโรคเข่าเสื่อมเมื่อเทียบกับผู้ที่มีน้ำหนักปกติ
  • ความดันโลหิตสูง: หรือ ไฮเพอร์เทนชัน เป็นภาวะที่พบบ่อยในผู้ที่มีน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วน และเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคไต
  • ภาวะเมแทบอลิกซินโดรม: ภาวะที่รวมถึงความดันโลหิตสูง, ไขมันในเลือดผิดปกติ, น้ำตาลในเลือดสูง, และมวลไขมันสะสมเกินขนาดรอบเอว ซึ่งทั้งหมดนี้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและเบาหวาน

ภาวะแทรกซ้อน

  • เสี่ยงเป็นโรคมะเร็ง: การมีน้ำหนักเกิน สามารถเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งบางชนิดได้ เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่, มะเร็งเต้านม, และมะเร็งปากมดลูก โดยผู้ที่มีโรคอ้วนมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 1.5 ถึง 2 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่มีน้ำหนักปกติ
  • มีปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับและการหายใจ: โรคอ้วนเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (sleep apnea) ซึ่งเป็นสภาวะที่การหายใจของผู้ป่วยจะหยุดชั่วคราวหลายครั้งในระหว่างการนอนหลับ ทำให้เกิดอาการง่วงนอนในระหว่างวันและเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด

การเข้าใจและการจัดการกับโรคอ้วนในแง่มุมต่างๆ ไม่เพียงช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตและสุขภาพของบุคคลเท่านั้น แต่ยังช่วยลดภาระด้านการดูแลสุขภาพ และค่าใช้จ่ายทางเศรษฐกิจในระยะยาวอีกด้วย ทำให้การป้องกันและการรักษาโรคอ้วนควรเป็นไปอย่างเป็นระบบระเบียบ โดยข้อเสนอแนะที่สำคัญสำหรับการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน นั่นก็คือ มีวิถีชีวิตการกินที่ดีและออกกำลังกาย อีกทั้งด้วยการส่งเสริมจากชุมชนและนโยบายสาธารณะที่เข้ามามีส่วนร่วม จะเป็นการโฆษณาให้ความรู้เรื่องโณคอ้วนที่ถูกต้องตั้งแต่วัยเยาว์ จะช่วยสร้างสังคมที่มีสุขภาพดีและยั่งยืนได้ในอนาคต


คำถามที่พบบ่อย

  1. โรคอ้วนคืออะไร?
    โรคนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องเพียงแค่น้ำหนักตัวที่เกินมาตรฐานเท่านั้น แต่เป็นสภาวะที่มีการสะสมของไขมันในร่างกายมากจนอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพร้ายแรง เช่น โรคเบาหวาน, โรคหัวใจ, และโรคกระดูกข้อ เป็นต้น
  2. อะไรคือสาเหตุหลักของโรคนี้?
    สาเหตุนั้นมีหลายปัจจัยร่วมกัน ทั้งการรับประทานอาหารที่มีแคลอรี่สูงเกินไป, การขาดการออกกำลังกาย, ปัจจัยทางพันธุกรรม, และผลกระทบจากสภาพแวดล้อมและสังคม รวมทั้งการใช้ชีวิตที่เน้นความสะดวกสบาย
  3. โรคนี้สามารถรักษาได้หรือไม่?
    โรคนี้สามารถควบคุมและรักษาได้ ด้วยการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการกินและการใช้ชีวิต การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ, การปรับเปลี่ยนอาหารการกิน, รวมทั้งการรับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการและแพทย์ ในบางกรณีอาจต้องพิจารณาใช้ยาหรือการผ่าตัด
  4. มีวิธีใดบ้างที่ช่วยป้องกันไม่ให้เกิดโรคอ้วน?
    การป้องกันโรคนี้เริ่มต้นด้วยการรับประทานอาหารที่สมดุล และหลีกเลี่ยงอาหารที่มีน้ำตาลและไขมันสูง การออกกำลังกายเป็นประจำอย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน, การจัดการความเครียด, และการตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ เป็นต้น

อ้างอิง

  1. Sherry Christiansen, Obesity Symptoms, VeryWell Health, March 22, 2024, https://www.verywellhealth.com/obesity-symptoms-4689168
  2. Kara Cuzzone and Elizabeth Narins, 7 Signs You Might Need to Lose Weight, Cosmopolitan, October 8, 2020, https://www.cosmopolitan.com/health-fitness/advice/a32110/signs-you-need-to-lose-weight/.
  3. Kimberly Holland, Here Are 5 Ways to Tell If You’re Overweight, Healthline, April 11, 2019, https://www.healthline.com/health-news/5-ways-to-tell-you-are-overweight.