อาการ ปวดท้องอาหารเป็นพิษ เป็นหนึ่งในอาการที่พบได้บ่อยที่สุด โดยผู้ป่วยมักจะมีอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน และท้องเสียร่วมด้วย อาการในผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะไม่ได้ร้ายแรงมากนัก แต่ในบางกรณีอาจร้ายแรงและถึงแก่ชีวิตได้ ซึ่งถ้ามีอาการอาหารเป็นพิษรุนแรง ต้องไปโรงพยาบาลและพบแพทย์โดยทันที เพราะถ้าหากในเคสของผู้ป่วยมีภูมิต้านทานต่ำ ร่างกายอาจจะเสียน้ำ เสียเกลือแร่ มีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการรุนแรงและก่อให้เกิดอันตรายได้
ปวดท้องอาหารเป็นพิษ เกิดจากอะไร?
ปวดท้องอาหารเป็นพิษ (food poisoning) เป็นภาวะที่เกิดจากรับประทานอาหารหรือน้ำที่มีการปนเปื้อนของเชื้อโรคเข้าไป ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อโรคจำพวก S.aureus B. cereus C. perfringens เชื้อซาลโมเนลลา เชื้ออีโคไล เชื้อคลอสติเดียม โบทูลินัม หรือการปนเปื้อนในอาหาร อาทิเช่น ขนมจีน อาหารกระป๋อง เป็นต้น โดยเชื้อโรคเหล่านี้จะมีการผลิตสารพิษ (enterotoxin) ที่ทนต่อความร้อนได้ดี เมื่อผู้ป่วยรับประทานอาหารจำพวกนี้เข้าไปก็อาจเกิดอาการของอาหารเป็นพิษ ทำให้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้องและท้องเสียตามมา ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเพศทุกวัยตั้งแต่เด็กเล็กไปจนถึงผู้ใหญ่ โดยทั่วไปอาหารเป็นพิษเป็นภาวะที่ไม่รุนแรงและสามารถหายได้เอง
ฉะนั้น การเลือกรับประทานอาหารที่สะอาด ปลอดภัย และถูกสุขอนามัย ยังเป็นการป้องกันอาการอาหารเป็นพิษได้ ปราศจากสารปนเปื้อนที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย และอย่าลืมดื่มน้ำสะอาดกันด้วย แล้วอาการ ท้องผูกเรื้อรัง ต่างกันอย่างไร ?
อาหารเป็นพิษ อาการเป็นอย่างไร
อาการของอาหารเป็นพิษส่วนใหญ่มักจะไม่ได้รุนแรง แต่ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงควรรีบไปพบแพทย์ทันที โรคอาหารเป็นพิษเป็นเรื่องใกล้ตัวที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน โดยเฉพาะประเทศไทยที่มีอากาศร้อน ทำให้เชื้อโรคสามารถเจริญเติบโตได้ดี อาการของอาหารเป็นพิษสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
- อาการที่ไม่รุนแรง เช่น รู้สึกพะอืดพะอม คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้องแบบบิดเกร็งเป็นพัก ๆ ท้องเสีย ไม่อยากอาหาร รู้สึกอ่อนเพลีย เป็นต้น
- อาการที่รุนแรง เช่น มีภาวะขาดน้ำ ปัสสาวะมีสีเข้ม หัวใจเต้นเร็ว วิงเวียนศีรษะ อาเจียนอย่างต่อเนื่อง ปวดท้องอย่างรุนแรง ท้องเสียติดต่อกันเป็นเวลาหลายวันและอาการไม่ดีขึ้นเลย ร่วมกับมีไข้สูงเกิน 38 องศาเซลเซียส
สำหรับผู้ป่วยอาหารเป็นพิษแต่ละรายจะมีลักษณะอาการที่แตกต่างกันไป โดยส่วนใหญ่มักมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสียเป็นน้ำหรือท้องเสียปนเลือด รวมทั้งอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ปวดท้อง ปวดเกร็งหน้าท้อง เบื่ออาหาร อ่อนแรง ปวดศีรษะ มีไข้ เป็นต้น ซึ่งอาการเหล่านี้อาจปรากฏขึ้นไม่กี่ชั่วโมงหรือภายใน 1 วันหลังรับประทานอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรค นอกจากนี้ยังอาจพบผู้ที่รับประทานทานอาหารร่วมกับผู้ป่วยก็อาจจะมีอาการได้เช่นเดียวกันในเวลาที่ไล่เลี่ยกัน โดยสังเกตอาการตนเอง หากมีอาการดังที่กล่าวมาให้สงสัยว่าเป็นโรคอาหารเป็นพิษ บทความที่น่าสนใจ โรคขี้เต็มท้องอาการเป็นอย่างไร ?
วิธีแก้ไขและดูแลตัวเอง เมื่อปวดท้องอาหารเป็นพิษในเบื้องต้น
เมื่อทราบถึงอาการอาหารเป็นพิษแล้ว ความสำคัญต่อมาคือ วิธีแก้ไขและดูแลตัวเอง ซึ่งในผู้ป่วยอาหารเป็นพิษถ้าไม่ได้มีอาการรุนแรงก็อาจจะใช้วิธีรับประทานยาที่หาซื้อได้เองควบคู่ไปกับการดูแลตนเองที่บ้าน เพื่อบรรเทาอาการให้หายดีขึ้นได้ แต่ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงควรจะรีบไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาอย่างถูกต้อง
สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการ ปวดท้องอาหารเป็นพิษ ส่วนใหญ่แพทย์หรือเภสัชกรมักจะให้กินยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อ ซึ่งตัวยาฆ่าเชื้อผู้ป่วยจะต้องกินยาให้ครบอย่างเคร่งครัด แม้ว่าอาการจะดีขึ้นมากแล้ว ไม่เช่นนั้นอาจเกิดการดื้อยาได้ นอกจากนี้การรักษาอาการอาหารเป็นพิษ ยังสามารถรักษาตามอาการได้ดังนี้
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารในช่วง 2-3 ชั่วโมงแรกหลังมีอาการเกิดขึ้น
- ดื่มน้ำเกลือแร่แก้ท้องเสีย (ORS) และห้ามจิบเกลือแร่สำหรับนักกีฬา เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ
- ดื่มน้ำสะอาดมาก ๆ
- พักผ่อนให้เพียงพอ งดการทำกิจกรรมหนัก ๆ
- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มประเภทนม แอลกอฮอล์ น้ำอัดลม หรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน
- ควรรับประทานอาหารปรุงสุกที่ย่อยได้ง่าย เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม เป็นต้น
- งดอาหารรสจัด ผลไม้ อาหารสุก ๆ ดิบ ๆ หรืออาหารหมักดอง
- ทำความสะอาดและล้างมือก่อนหยิบจับอาหาร
- หากมีอาการถ่ายท้องสามารถกินยาคาร์บอนหรือถ่านกัมมันต์ได้
- หากอาการไม่ดีขึ้น มีอาการท้องร่วงรุนแรง มีไข้ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
อาหารที่กินแล้วเสี่ยงอาหารเป็นพิษ มีเมนูอะไรบ้าง ?
เป็นที่รู้กันว่าอาหารเป็นพิษเกิดจากการกินอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนจากแบคทีเรียเข้าไป ซึ่งมักจะพบในอาหารที่ปรุงสุก ๆ ดิบ ๆ อาหารที่ไม่สะอาด ซึ่งทำให้เชื้อโรคเจริญเติบโตได้ดี เราลองมาดูเมนูอาหารที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอาหารเป็นพิษ หากจะรับประทานควรระมัดระวังเป็นพิเศษ ได้แก่
- อาหารที่มีกะทิเป็นส่วนผสมแล้วปรุงทิ้งไว้นานหลายชั่วโมง เพราะกะทิเมื่อเจออากาศร้อน ๆ มักจะเสียง่าย
- อาหารที่มีรสจัด เผ็ดจัด เปรี้ยวจัด หรือเค็มจัด อย่างส้มตำและยำต่าง ๆ บางร้านอาจใช้เครื่องปรุงที่ไม่ได้มาตรฐาน
- ขนมจีนน้ำยาต่าง ๆ เส้นขนมจีนทำมาจากแป้งและบูดง่าย รวมถึงน้ำยากะทิก็เก็บได้ไม่นาน
- อาหารทะเลควรเลือกแบบสด ๆ และปรุงให้สุก หากมีกลิ่นคาวหรือสีผิดปกติ ไม่ควรรับประทาน
- การทานผักสด ๆ มีโอกาสได้รับเชื้อโรคได้ ดังนั้นควรล้างผักให้สะอาดก่อนเสมอ
- น้ำและน้ำแข็งอาจไม่สะอาด มีการปนเปื้อนในก้อนน้ำแข็งได้
- อาหารประเภทสุก ๆ ดิบ ๆ หรือปรุงสุกไม่เพียงพอ
- อาหารหมักดอง อาหารกระป๋องที่มีรอยบุบ รอยรั่ว หรือขึ้นสนิม
- อาหารที่ปรุงไม่สะอาดเพียงพอ เช่น ใช้เขียงหั่นเนื้อสัตว์กับผักร่วมกัน อาหารที่มีแมลงวันตอม
- อาหารที่ปรุงสุกไว้นานและไม่มีการอุ่นร้อน
การเลือกรับประทานอาหารควรยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” หลีกเลี่ยงอาหารที่เสียง่ายหรือสุก ๆ ดิบ ๆ เพื่อป้องกันโรคอาหารเป็นพิษ ที่สำคัญควรล้างมือให้สะอาด ก่อนรับประทานอาหารทุกครั้ง อย่างไรก็ตาม หากวิธีแก้อาการอาหารเป็นพิษข้างต้นไม่ได้ผลและอาการป่วยไม่ดีขึ้นเลย ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาที่ตรงจุด ทำความรู้จักกับ โพรไบโอติก ตัวช่วยปรับสมดุลลำไส้ให้แข็งแรง
อ้างอิง
- อาหารเป็นพิษ อร่อยปาก ลำบากกาย. https://www.sikarin.com/health/อาหารเป็นพิษ-อร่อยปาก-ลำ
- “อาหารเป็นพิษ” (Food Poisoning): สาเหตุ อาการ วิธีรักษา & การป้องกัน. https://www.vibhavadi.com/Health-expert/detail/274
- โรคอาหารเป็นพิษ (Food Poisoning). https://www.tropmedhospital.com/knowledge/food_poisoning.html